ตามที่จะมีการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN ECONOMIC COMMUNITY : AEC) ในปี 2558
โดยมีเป้าหมายที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ของอาเซียนในตลาดโลก เนื่องจากเป็นการส่งเสริมให้เกิดการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตระหว่างประเทศสมาชิกที่กว้างขวางมากขึ้น ทั้งในด้านการค้า การบริการ และการลงทุน รวมถึงความร่วมมือ ในด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน เพื่อลดอุปสรรคให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จึงนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบธุรกิจ โครงสร้างอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีการสื่อสาร ซึ่งจะมีผลต่อสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม ดังนั้นจึงเป็นได้ทั้งโอกาสและภัยคุกคามของการพัฒนาประเทศขึ้นอยู่กับการเตรียมความพร้อม
และด้วย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อน SMEs ให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจให้เกิดความเข้มแข็งนั้น จึงได้เห็นชอบให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ดำเนินยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงานส่งเสริม SMEs ระยะเร่งด่วนปี 2558 ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ (4P) รวม 13 โครงการ ซึ่งมุ่งเน้นงานที่สามารถเริ่มดำเนินการได้ทันที และให้ความสำคัญกับการปรับปรุงการบริหารจัดการงานส่งเสริม SMEs ให้มีประสิทธิภาพ มีเอกภาพ ดำเนินงานสอดคล้องในทิศทางเดียวกัน และมีการสร้างกลไกหรือโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการสนับสนุนให้ SMEs สามารถเริ่มต้นธุรกิจและเติบโตได้ตามวงจรธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จึงจัดทำโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (Start Up) เพื่อนำผู้ที่มีความสนใจจะประกอบธุรกิจ หรือผู้ที่เริ่มประกอบธุรกิจไม่นาน นำมาเข้าสู่กระบวนการ พัฒนาศักยภาพ ซึ่งจะจัดให้มีนักวินิจฉัย ที่ปรึกษา การฝึกอบรม กิจกรรมส่งเสริมการตลาด ทั้งนี้เพื่อให้กลายเป็น SMEs โดยมุ่งหวังให้ SMEs ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการเหล่านี้เป็นต้นแบบในการพัฒนาศักยภาพของ SMEs ไทยในการขยายธุรกิจได้อย่างยั่งยืนเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการไทยและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
จากนโยบายดังกล่าวข้างต้น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมลคลธัญบุรี ได้ลงนามความร่วมมือกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) โดยใช้ชื่อว่า โครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (Start Up) ปี 2559